3 นวัตกรรมการศึกษา สุดเจ๋ง ที่มักถูกหยิบมาใช้ เพื่อให้การเรียนรู้ไทยไร้ขีดจำกัด
เชื่อว่าใครหลายคนอาจจะสับสนระหว่างคำว่า “นวัตกรรมการศึกษา” กับ “เทคโนโลยีการศึกษา” สองคำนี้มันคล้ายกันมาก จนคิดว่าสองคำนี้มันคือสิ่งเดียวกัน แต่ช้าก่อน มันไม่ใช่แบบที่ทุกคนคิด บทความนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ “นวัตกรรมการศึกษา” และจะช่วยไขความกระจ่างให้กับทุกคนเอง ว่าจริง ๆ แล้วมันคืออะไร และมีความสัมพันธ์ยังไงกับ “เทคโนโลยีการศึกษา”
“นวัตกรรมการศึกษา” คืออะไร
นวัตกรรมทางการศึกษา หรือ Educational Innovation คือ การนำเอาสิ่งใหม่ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของความคิดหรือการกระทำ รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ก็ตามเข้ามาใช้ในระบบการศึกษา เพื่อมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ระบบการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
แล้ว “นวัตกรรม” กับ “เทคโนโลยี” มีความสัมพันธ์กันยังไง
ทุกวันนี้แทบจะเห็นการใช้คำว่า “นวัตกรรม” กับ “เทคโนโลยี” มาคู่กันโดยตลอด แต่จริง ๆ แล้ว สองคำนี้มีความใกล้เคียงกันมาก นวัตกรรม คือ การสร้างสิ่งใหม่หรือการนำของเก่ามาปรับปรุงให้แตกต่างจากเดิม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ส่วนเทคโนโลยี ก็คือ การนำสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งวิธีการเข้ามาประยุกต์ใช้กับการทำงาน หรือแก้ปัญหาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สรุปให้เข้าใจง่าย ก็คือ นวัตกรรมทำให้เกิดเทคโนโลยี หลายคนอาจจะยังงง ยกตัวอย่างคือ ถ้าเราเจอปัญหาว่า การทำความสะอาดบ้านด้วยไม้กวาดแบบเดิม มันช้า และไม่ค่อยสะอาด คำถามคือ จะทำยังไงให้การทำความสะอาดบ้านมันดีและเร็วขึ้นกว่าเดิม ปัญหานี้แก้ด้วยการเกิดนวัตกรรมใหม่ ก็คือ เครื่องดูดฝุ่น ที่สามารถแก้ปัญหาแบบเดิมได้ตรงจุดและดีขึ้น คือ สะอาดมากขึ้น เร็วขึ้น แล้วพอนวัตกรรมเครื่องดูดฝุ่นเกิดขึ้นมา เทคโนโลยีที่หลากหลายของเครื่องดูดฝุ่นก็เกิดตามมาด้วย เช่น เครื่องดูดฝุ่นแบบมีสาย / ไร้สาย / หุ่นยนต์ เป็นต้น
3 ตัวอย่าง นวัตกรรมการศึกษา สุดเจ๋งในไทย
นวัตกรรมที่ 1 ชุดการเรียนรู้แบบพึ่งตนเอง (Self-Directed Learning Package) หรือ การใช้ Black Box สื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเองในศตวรรษที่ 21
โครงการ TSQP คิดค้นชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self Directed Learning) มีชื่อว่า “กล่องดำ” หรือ Black Box จุดเด่น คือ เป็นบทเรียน “ออฟไลน์” ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอินเทอร์เน็ต นักเรียนสามารถเลือกเนื้อหา และเวลาเรียนเองได้ เป็นเครื่องมือเสริมทักษะพื้นฐานการเรียนรู้ที่ครอบคลุม 4 กลุ่มวิชาหลัก ได้แก่ 1) นวัตกรรมและเทคโนโลยี 2) สังคมและมนุษยชน 3) วิทยาการวิจัย 4) สัมมาชีพศึกษา จากพื้นฐานการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่ส่งมอบโอกาสทางการศึกษาไปถึงมือเด็ก ๆ ในพื้นที่ห่างไกล ด้วยเครื่องมือที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีออนไลน์เป็นหลัก
นวัตกรรมที่ 2 โครงงานนวัตกรรมจากประสบการณ์โลก IP2
ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ด้วย Phenomenal Based Learning ร่วมกับ Project Approach โดยครูจะดึงกระแสที่กำลังเป็นประเด็นทางสังคมหรือโลกมาสร้างเป็น theme ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ โดยการชวนพูดคุย และนำองค์ความรู้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน จากนั้นจึงทำการอภิปรายและสังเคราะห์ เพื่อให้ได้สิ่งที่สนใจมากเพียงพอในการระดมสมองและเส้นทางการเรียนรู้ของตัวเอง เป็นการบูรณาการข้ามศาสตร์ ช่วยเสริมให้เนื้อหาสาระในรายวิชาต่าง ๆ
นวัตกรรมที่ 3 โครงงานนวัตกรรมเพื่อชุมชน หรือ Community Innovation Project หรือ CIP
เป็นการนำ Project Approach ที่ศึกษาโดย OECD มาปรับให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย จุดเด่นคือการเชื่อมโยงชุมชนและสภาพแวดล้อมเข้าสู่ห้องเรียน เน้นให้ผู้เรียนลงพื้นที่สำรวจชุมชนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ก่อนจะนำมาออกแบบหัวข้อการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียนจะมีอิสระเรียนรู้ในสิ่งที่ต้องการ มีความเป็นเจ้าของในหัวข้อโครงการ และครูทำหน้าที่คอยสนับสนุนเครื่องมือต่าง ๆ ช่วยกระตุ้นการคิดวิเคราะห์ และการสร้างสรรค์ ทำให้ผู้เรียนสามารถออกแบบนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาหรือพัฒนาชุมชนของตนเองได้
วงการการศึกษาจะไปได้ไกล ถ้ามีการพัฒนาอยู่ตลอด นวัตกรรมการศึกษาก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก ที่ช่วยทำให้วงการนี้ไม่หยุดอยู่กับที่ อยู่ที่ว่าจะหยิบมาใช้ยังไง ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวผู้เรียน