เคยไหมที่เวลาเงินเดือนเข้าทีไร แทบจะออกก่อนใช้ทุกที เราเรียกภาวะนี้ว่า “การใช้เงินแบบเดือนชนเดือน” ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็มีแต่รายจ่ายวิ่งออกอยู่ตลอดเวลา ทั้งค่าบัตรเครดิต ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ฯลฯ กลายเป็นคนมีค่าเต็มไปหมด โดยเฉพาะค่าหนี้จากบัตรเครดิต เพราะถ้ายิ่งจ่ายช้า สิ่งที่ตามมาก็คือค่าปรับและดอกเบี้ย แต่อย่าเพิ่งหมดกำลังใจไป เพราะเรามี 2 เทคนิคดี ๆ ที่จะช่วยคุณ เคลียร์หนี้ ต่าง ๆ ให้หมดได้ไว มีประสิทธิภาพ จากชีวิตที่ติดลบ กลายเป็นชีวิตที่ติดบวกได้ไม่ยาก
เทคนิคลูกบอลหิมะ (Snowball Method)
เทคนิคนี้เปรียบการจัดการหนี้สินแบบลูกบอลหิมะ โดยเลือกเคลียร์หนี้ก้อนที่เล็กที่สุดให้หมดก่อน ในขณะเดียวกัน ก็จะจ่ายหนี้ก้อนอื่น ๆ ในจำนวนขั้นต่ำเท่านั้น ป้องกันการเสียประวัติเครดิตบูโรในระยะยาว เมื่อจ่ายหนี้ก้อนที่เล็กที่สุดจนหมด ก็จะขยับไป เคลียร์หนี้ ก้อนที่ใหญ่ขึ้น ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนสามารถเคลียร์หนี้แต่ละก้อนได้ครบ ซึ่งเหมือนกับลูกบอลหิมะที่กลิ้งลงมาจากเขา จากที่ตอนแรกลูกเล็ก พอกลิ้งลงมาเรื่อย ๆ ลูกบอลก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง วิธีนี้จะพิจารณาจากยอดคงเหลือของหนี้แต่ละก้อนเท่านั้น ไม่คำนึงถึงดอกเบี้ย
ตัวอย่าง – การใช้เทคนิคลูกบอลหิมะในการจัดการหนี้
เงื่อนไข : มีเงินในการเคลียร์หนี้เดือนละ 30,000 บาท | ||||||
เจ้าหนี้ | ยอดหนี้สิน (บาท) |
อัตราดอกเบี้ย | ยอดชำระขั้นต่ำ (บาท/เดือน) |
Repayment1
(บาท/เดือน) |
Repayment2
(บาท/เดือน) |
Repayment3
(บาท/เดือน) |
หนี้ A | 30,000 | 8% | 3,000 | 15,000 | 15,000 | – |
หนี้ B | 50,000 | 15% | 5,000 | 5,000 | 5,000 | 20,000 |
หนี้ C | 100,000 | 12% | 10,000 | 10,000 | 10,000 | 10,000 |
รวมยอดเคลียร์หนี้ในแต่ละเดือน | 30,000 | 30,000 | 30,000 |
Concept การเคลียร์หนี้แบบเทคนิคลูกบอลหิมะ
- เลือกเคลียร์หนี้ A ก่อน เพราะยอดน้อยสุด คือ 30,000 บาท
- เนื่องจากวงเงินในการเคลียร์หนี้ในแต่ละเดือนเท่ากับ 30,000 บาท ดังนั้น หนี้ B และ C จะจ่ายที่ยอดขั้นต่ำ เท่ากับ 5,000 บาท และ 10,000 บาท ตามลำดับ ส่วนที่เหลืออีก 15,000 บาท จะนำไปโปะหนี้ A ซึ่งเป็นหนี้ก้อนที่เล็กที่สุด ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนปิดหนี้ A หมด
- เมื่อปิดหนี้ A ได้ ต่อไปให้โฟกัสที่หนี้ B ที่ยอดน้อยรองลงมา จากที่เคยจ่ายหนี้ A เดือนละ 15,000 บาท จะนำยอดที่ปกติจ่ายหนี้ A ไปโปะเพิ่มให้หนี้ B ซึ่งเท่ากับ 15,000 + 5,000 = 20,000 บาท และหนี้ C จ่ายที่ขั้นต่ำเท่าเดิม เท่ากับ 10,000 บาท ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนสามารถปิดหนี้แต่ละก้อนได้สำเร็จ
ข้อดี : มีกำลังใจในการชำระหนี้ เพราะสามารถปิดหนี้ก้อนเล็กได้ไว ทำให้การปิดหนี้ก้อนที่ใหญ่ขึ้นดูไม่ยากเกินไป
ข้อควรระวัง : เนื่องจากเทคนิคนี้จะคำนึงแค่การปิดหนี้ก้อนเล็กที่สุดก่อน และจ่ายขั้นต่ำในหนี้ก้อนอื่น ๆ ไม่ได้คำนึงเรื่องดอกเบี้ย ต้องระวังปัญหาดอกเบี้ยทบต้นสูงตามมา
เทคนิคหิมะถล่ม (Avalanche Method)
เทคนิคนี้จะเลือกจัดการหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน ในขณะเดียวกัน ก็จะจ่ายหนี้ก้อนอื่น ๆ ในจำนวนขั้นต่ำเท่านั้น เมื่อจ่ายหนี้ก้อนที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดจนหมด ก็จะขยับไปเคลียร์หนี้ก้อนที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงรองลงมา ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนสามารถ เคลียร์หนี้ แต่ละก้อนได้ครบ เปรียบกับหิมะที่ถล่มลงจากยอดเขารวดเดียว โดยเลือกโปะเงินไปถล่มภูเขาหิมะที่ใหญ่ที่สุดก่อน นั่นก็คือหนี้ก้อนที่มีดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อนนั่นเอง วิธีนี้จะพิจารณาจากหนี้ก้อนที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน ไม่สนว่าหนี้ก้อนนั้นจะเยอะหรือน้อย
ตัวอย่าง – การใช้เทคนิคหิมะถล่มในการจัดการหนี้
เงื่อนไข : มีเงินในการเคลียร์หนี้เดือนละ 30,000 บาท | ||||||
เจ้าหนี้ | ยอดหนี้สิน (บาท) |
อัตราดอกเบี้ย | ยอดชำระขั้นต่ำ (บาท/เดือน) |
Repayment1
(บาท/เดือน) |
Repayment2
(บาท/เดือน) |
Repayment3
(บาท/เดือน) |
หนี้ A | 30,000 | 8% | 3,000 | 3,000 | 3,000 | 3,000 |
หนี้ B | 50,000 | 15% | 5,000 | 17,000 | 17,000 | 16,000 |
หนี้ C | 100,000 | 12% | 10,000 | 10,000 | 10,000 | 11,000 |
รวมยอดเคลียร์หนี้ในแต่ละเดือน | 30,000 | 30,000 | 30,000 |
Concept การเคลียร์หนี้แบบเทคนิคหิมะถล่ม
- เลือกเคลียร์หนี้ B ก่อน เพราะอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุด คือ 15%
- เนื่องจากวงเงินในการเคลียร์หนี้ในแต่ละเดือนเท่ากับ 30,000 บาท ดังนั้น หนี้ A และ C จะจ่ายที่ยอดขั้นต่ำ เท่ากับ 3,000 บาท และ 10,000 บาท ตามลำดับ ส่วนที่เหลืออีก 17,000 บาท จะนำไปโปะหนี้ B ซึ่งเป็นหนี้ก้อนมีอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุด ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนปิดหนี้ B หมด
- จากตารางจะเห็นว่า ครั้งที่ 3 สามารถปิดหนี้ B ได้ โดยจ่ายงวดสุดท้าย จำนวนเพียง 16,000 บาท ดังนั้นจะเหลือเงินเพิ่มอีก 1,000 บาท ให้นำเงินจำนวนนี้ไปโปะเวลาจ่ายคืนหนี้ C ซึ่งเท่ากับ 1,000 + 10,000 = 11,000 บาท และหนี้ A จ่ายที่ขั้นต่ำเท่าเดิม เท่ากับ 3,000 บาท ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนสามารถปิดหนี้แต่ละก้อนได้สำเร็จ
ข้อดี : ระยะเวลาในการปลดหนี้สั้นลง และประหยัดเงินจากดอกเบี้ย
ข้อควรระวัง : ยากกว่า เพราะต้องมีวินัยสูง ใช้ความอดทนมากกว่า และใช้เวลาในการปลดหนี้นานกว่า
ความแตกต่างระหว่าง เทคนิคลูกบอลหิมะ (Snowball Method) และ เทคนิคหิมะถล่ม (Avalanche Method)
หัวข้อ | Snowball Method | Avalanche Method |
หลักการ | พิจารณาจากยอดคงเหลือของหนี้เป็นหลัก | พิจารณาจากยอดหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดเป็นหลัก |
ลำดับการชำระหนี้ | เริ่มจากยอดหนี้ที่น้อยที่สุดไปมากที่สุด | เริ่มจากยอดหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดไปต่ำที่สุด |
ระยะเวลาในการชำระหนี้ | ใช้เวลามากกว่า | ใช้เวลาน้อยกว่า |
การประหยัดดอกเบี้ย | ประหยัดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า | ประหยัดดอกเบี้ยได้มากกว่า |
เหมาะกับใคร | คนที่มีหนี้หลายก้อน แต่ละก้อนมีอัตราดอกเบี้ยต่างกันมาก ต้องการประหยัดดอกเบี้ย และมีวินัยสูง | คนที่มีหนี้หลายก้อน แต่ละก้อนมีอัตราดอกเบี้ยไม่ต่างกันมาก ต้องการแรงจูงใจในการชำระหนี้ |
เรียนรู้ขั้นตอนและวิธีจัดการหนี้ด้วยเทคนิคดี ๆ กับ Skooldio แพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ในเครือ LEARN Corporation ได้ฟรี! (คลิก)