Thailand Zero Dropout

Thailand Zero Dropout จับตาความหวังใหม่ รักษาเด็กไทยในระบบการศึกษา

“เด็กคืออนาคตของชาติ” ประโยคนี้จะเป็นจริงได้อย่างไร ถ้ายังมีกลุ่มเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ก็คือ ความยากจน รวมถึงรายได้ที่ไม่มั่นคงของผู้ปกครอง สาเหตุดังกล่าวนี้ส่งผลต่ออนาคตของเด็กคนหนึ่งเป็นอย่างมาก เพราะเด็กต้องออกจากโรงเรียนเพื่อมาช่วยพ่อแม่ทำงาน แล้วจะทำอย่างไรล่ะ ที่จะช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ นโยบาย Thailand Zero Dropout จึงเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาให้เป็นศูนย์

 

Thailand Zero Dropout คืออะไร ?

 

Thailand Zero Dropout

 

Thailand Zero Dropout หรือ เด็กทุกคนต้องได้เรียน เป็นนโยบายของรัฐบาลที่มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เทคโนโลยีข้อมูลในการตามหาเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาและพากลับเข้าสู่ระบบ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้เป็นศูนย์ โดยเฉพาะการศึกษาภาคบังคับ (ป.1 – ม.3) ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างโอกาสที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน เด็กมีโอกาสพัฒนาชีวิต ก้าวพ้นความยากจน กลายเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวได้

 

การมีห้องเรียนรูปแบบเดียวจึงไม่เอื้อให้เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาให้กลับสู่ระบบได้ เพราะการเรียนรูปแบบเดียวไม่สามารถตอบโจทย์เงื่อนไขชีวิตที่แตกต่างกันของเด็กละคน ดังนั้น แนวคิด 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ซึ่งก็คือ การศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ถือเป็นรูปแบบห้องเรียนที่ยืดหยุ่นมากพอที่จะรองรับผู้เรียนในทุกรูปแบบควบคู่ไปกับการตามหาเด็กที่ตกหล่นจากระบบ ให้พวกเขาเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่เสียค่าใช้จ่าย และได้วุฒิการศึกษาอีกด้วย

 

4 มาตรการสำคัญของนโยบาย Thailand Zero Dropout

 

มาตรการ

 

  1. ค้นหา

ค้นหา และคัดกรอง โดยนำข้อมูลเด็กนอกระบบการศึกษาในแต่ละพื้นที่ให้คนในชุมชน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน, อสม., อพม. ไปตรวจสอบคัดกรองเบื้องต้น ด้วยแอปพลิเคชัน Thailand Zero Dropout ที่ กสศ. พัฒนาขึ้น

 

  1. ช่วยเหลือ

ตรวจสอบสาเหตุของปัญหาความต้องการ และนำไปสู่การวางแผนช่วยเหลือเป็นรายกรณี เพื่อให้ครอบคลุมการแก้ปัญหาทุกมิติ ทั้งเรื่องรายได้ สุขภาพ คุณภาพชีวิตของเด็กและครอบครัว รวมถึงการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น หรือการพัฒนาทักษะอาชีพ เป็นต้น

 

  1. ส่งต่อ

จัดการเรียนรู้แบบยืดหยุ่น มีคุณภาพตามเป้าหมายของเด็ก การทำงานตามขั้นตอนดังกล่าว จะมี Care Manager หรือผู้ดูแลรายกรณีที่อาจจะเป็นคุณครู หรืออาสาสมัครที่ใกล้ชิด ทำหน้าที่ติดตามดูแลและประสานความช่วยเหลือตามแผนที่ร่วมวางไว้

 

  1. ดูแล

ส่งเสริมภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมในการดูแล จัดการศึกษาแบบบูรณาการในลักษณะ Learn to Earn ให้เด็กและเยาวชนอายุ 15-18 ปี ได้พัฒนาทักษะการทำงานที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน มีรายได้เสริมระหว่างเรียน ด้วยการสนับสนุนให้สถานประกอบการเข้าร่วมจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ควบคู่กับการทำงาน